One-day Hiking ที่คามิโคจิ @ Mt. Yakedake

13 ส.ค. 2019

เนื้อหาบทความ

  1. 1. ข้อมูลการปีนพื้นฐาน
  2. 2. เกี่ยวกับภูเขาไฟยาเกะดาเกะ
  3. 3. อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
  4. 4. การเดินทางไปทางเข้าทางเดินเทรก
  5. 5. ปีนภูเขาไฟที่กำลังหลับใหล: ยาเกะดาเกะ 2,455 เมตร
  6. 6. แนะนำโรงแรมในคามิโคจิ
  7. 7. การยื่นแผนการเดินป่า (Trekking Itinerary)

สำหรับสายลุย สายปีนเขา สายเอาท์ดอร์ มารวมตัวกันที่นี่ได้เลย บล๊อกนี้แอดมินจะพาไปปีนเขาแบบไปเช้า-เย็นกลับที่คามิโคจิ เป้าหมายคือยอดเขายาเกะดาเกะ (Mt. Yakedake) ที่ความสูง 2,455 เมตร ถือเป็นเป้าหมายแนะนำสำหรับคนที่อยากจะลองปีนเจแปนแอลป์แบบไม่ยากจนเกินไปนัก เพราะสามารถปีนแบบเช้า-เย็นกลับได้ โดยไม่ต้องค้างคืนอยู่บนเขา

ข้อมูลการปีนพื้นฐาน

ระยะทาง: 8.8 กม.
ความสูง: 921 เมตร
ระยะเวลา: ประมาณ 5.5 - 6 ชม. (รวมเวลาพักกินข้าว 1 ชม.)

เกี่ยวกับภูเขาไฟยาเกะดาเกะ

ภูเขายาเกะดาเกะตั้งอยู่บนสันเขาของเทือกฮิดะ ซึ่งคาบเกี่ยวกับจังหวัดนากาโนะและกิฟุ มียอดสูงสุดที่ความสูง 2,455 เมตร ที่สำคัญที่สุดคือภูเขาแห่งนี้ยังเป็นภูเขาไฟที่ยังมีชีวิต คือวันดีคืนดีอาจจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้ นอกจากนี้ยังเป็น1 ใน 100 ภูเขาที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น (100 Famous Japanese Mountains) ซึ่งรวบรวมโดยคิวยะ ฟุคาดะ และเป็นภูเขาเดียวใน 100 แห่งนี้ที่ถูกห้ามไม่ให้ปีนจนกระทั่งปี 1991

เชื่อว่าหลายคนคงจะไม่เคยรู้ว่า “บึงไทโช”ที่ทุกคนต้องไปถ่ายรูปนั้นเกิดจากการระเบิดครั้งใหญ่ล่าสุดของภูเขาไฟยาเกะดาเกะเมื่อปี 1915 ซึ่งทำให้เถ้าลาวาไหลมาขวางแม่น้ำอะซุสะ เกิดเป็นบึงไทโชในปัจจุบัน การปะทุของภูเขาไฟนั้นเป็นภัยพิบัติที่น่ากลัวและคร่าชีวิตคน แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สรรสร้างธรรมชาติสวยงามมากมายให้เกิดมาในโลกนี้ ถ้าไม่เกิดภูเขาระเบิดในคราวนั้น เราก็คงไม่ได้ถ่ายรูปบึงไทโชสวยๆในปัจจุบันแบบนี้

Fun Fact! จังหวัดนากาโนะเป็นจังหวัดที่มี “100 ภูเขาที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น” มากที่สุด ซึ่งหากนับรวมภูเขาที่ตั้งอยู่บนเส้นแบ่งจังหวัดด้วยจะมีมากถึง 31 แห่งเลยทีเดียว!

ภูเขาไฟยาเกะดาเกะจากมุมต่างๆ

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

เสื้อผ้า
1. เสื้อที่ระบายเหงื่อ แห้งเร็ว แนะนำเป็นเนื้อผ้าใยสังเคราะห์เช่น Polyester (ฤดูร้อน) หรือ Merino Wool(ฤดูใบไม้ผลิ/ร่วง) ห้ามใส่เสื้อผ้า Cotton เพราะอุ้มน้ำ แห้งยากกว่า จะทำให้เราหนาว และกางเกงที่เคลื่อนไหวสะดวก ห้ามกางเกงยีนส์รัดติ้ว
2. ถ้าปีนในฤดูใบไม้ผลิ/ร่วง ต้องเตรียมเสื้อ Fleece หรือ Down ไปด้วย
3. เสื้อแจ็กเก็ตกันลม เวลาเรานั่งพัก รวมถึงตอนปีนถึงยอดแล้ว มักจะมีลมพัดแรง ตัวเราที่เปียกเหงื่อเมื่อสัมผัสกับลม จะทำให้หนาวทรมาณและไม่สบายได้
4. ถุงมือใส่กันลื่นเวลาพยุงค้ำหิน ปีนบันไดลิง
5. รองเท้าสำหรับ Trekking/Hiking (รองเท้าผ้าใบธรรมดา เห็นฝรั่งบางคนใส่ไป แต่แอดมินไม่แนะนำ เพราะมีช่วงที่พื้นเป็นหินเยอะ เดินนานๆเจ็บเท้า ถ้าฝนตกก็พังอีก อย่างน้อยพื้นรองเท้าต้องหนาและไม่ลื่น) ถุงเท้าหนาๆหน่อย

อาหารเครื่องดื่ม
1. อาหารเที่ยงที่กินง่ายๆ ขนมที่ให้พลังงานทันที เช่น ช็อกโกแลต
2. น้ำอย่างน้อย 1 ลิตร (ระหว่างทางเราสามารถหาซื้อเพิ่มเติมได้ที่ Yakedake-goya Mountain Hut แต่แพงมาก)

สิ่งที่ต้องเตรียมอื่นๆ
1. กระเป๋าสะพายหลัง ต้องเป็นสะพายหลังเท่านั้น เพราะมือทั้ง 2 ข้างต้องว่าง
2. อุปกรณ์ first aid ถุงพลาสติกเอาไว้เก็บขยะกลับลงเขา ทิชชู ทิชชูเปียก ครีมกันแดด หมวก กล้อง ผ้าขนหนู เงิน แผนที่ เข็มทิศ อาจจะใช้มือถือแทนได้

การเดินทางไปทางเข้าทางเดินเทรก

ยาเกะดาเกะสามารถปีนได้จากฝั่งข้างในคามิโคจิ และจากนากาโนะยุ (Nakanoyu) คราวนี้แอดมินจะเขียนแบบที่ปีนจาก Nakanoyu ไปลงฝั่งข้างคามิโคจิ

1. ขับรถไปจอดที่ทางเข้าเส้นทางปีนเขา ซึ่งมีพื้นที่จำกัด ดูแผนที่ ถ้าเดินทางตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปแนะนำนั่งแท็กซี่ไปจะดีที่สุด (ประมาณ 4,000 กว่าเยน)
2. นั่งบัสไปลงป้าย N-26 Nakanoyu (รถบัสที่ไปคามิโคจิจอดป้ายนี้ทุกสาย) จากป้ายนี้ต้องเดินขึ้นเนินไปตามถนนอีก 40 นาที กว่าจะถึงทางเข้าเส้นทางปีนเขา

ดูตารางเวลารถบัสไปคามิโคจิ >

ปีนภูเขาไฟที่กำลังหลับใหล: ยาเกะดาเกะ 2,455 เมตร

แอดมินเริ่มปีนตอนตี 5:45 จากความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 1,340 เมตร เส้นทางตอนแรกเป็นป่าเขียวๆ มีหินใหญ่และรากไม้ไปตลอดทาง ค่อยๆปีนไม่ต้องรีบ ไม่งั้นหมดแรงก่อน เดินไปซักพักพระอาทิตย์โผล่ขึ้นมา กำลังสวยเลย

ปีนมาได้ 1 ชม. เริ่มเจอใบไม้แดงเหลืองแล้ว บนเขาจะเริ่มใบไม้แดงเร็วกว่าข้างล่างในคามิโคจิ แอดมินไปปีน 2 ครั้ง 24 ก.ย.กำลังเริ่มเปลี่ยนสี อีกครั้งวันที่ 2 ต.ค. กำลังพีคเลย

ปีนต่ออีกนิด พื้นเริ่มจะเป็นหินๆ มีบันไดที่ต้องไต่บ้าง ตรงนี้เรียกว่า “Hiroba” พอมาถึงตรงนี้แล้ว เราก็จะเห็นแนวทิวเขาสวยงามและยอดเขาเป้าหมายของเราตรงหน้า

พอใกล้จะถึงยอดก็จะเจอทะเลสาบปล่องภูเขาไฟ จัดไปอีก 1 รูป

จากนี้ไปอีกนิดนึงก็จะถึงยอด แต่จุดนี้นี่แหละที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะทางแคบอันตราย ถ้าตกลงไปก็บ๊ายบาย แล้วก็มีจุดที่ชันมากๆอยู่หนึ่งจุด ที่ต้องขอใช้ว่า “ปีน” จริงๆ

และแล้วก็ถึงยอดแล้ว แต่น แตน แต๊น! ที่ป้ายเห็นเขียนความสูงที่ 2,444.5 เมตร ตอนแรกก็งงว่าทำไมไม่ใช่ 2,455 ม. พอไปหาข้อมูล ถึงได้รู้ว่ายอดยาเกะดาเกะมียอด 2 ยอด ยอดทางใต้สูง 2,455 ม. แต่ห้ามไม่ให้ปีนเพราะอันตราย ให้ปีนขึ้นได้เฉพาะยอดด้านเหนือคือด้านนี้เท่านั้น (ป.ล. เวลา ณ ตอนนี้ประมาณ 9 โมงกว่า)

คามิโคจิจากมุมสูง ใครเห็นบึงไทโช สะพายคัปปะบ้าง?

เราจะพักเหนื่อย กินขนมหรือจะกินข้าวตรงนี้ก็ได้ซักพัก แต่อยู่นานมากไม่ได้เพราะใกล้ปล่องภูเขาไฟซึ่งพ่นแก๊สไข่เน่าออกมาตลอดเวลา จากตรงนี้มองลงไปเราจะเห็นคามิโคจิทั้งหมดจากมุมที่ต่างไป ทั้งสะพานคัปปะ บึงไทโช แม่น้ำอะซุสะ พอได้เห็นวิวแบบนี้ บอกเลยว่าหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

ชื่นชมความสำเร็จจนหน่ำใจ ก็ได้เวลาปีนลงกัน ขาลงสำหรับแอดมินลำบากกว่าขาขึ้น เพราะทางชันแล้วก็เป็นหินซะเยอะ ยิ่งบางช่วงที่เป็นดินทรายละเอียดๆจะทำให้เราไถลลงไป ต้องค่อยๆไป

กินมาม่ากับจิบชาดำ TWG พร้อมกันชมวิวภูเขาพาโนราม่ามาไปด้วย มื้อกลางวันนี้หรูหราที่สุดเลย

ปีนลงอีก 40 นาที ก็จะถึงจุดชมวิว จะแวะกินข้าวตรงนี้ก็ได้ แต่จะร้อนหน่อยเพราะไม่มีร่มเงาเลย หากต้องการนั่งพักอย่างสบายๆแนะนำให้เดินต่อไปอีกประมาณ 10 นาที จะมี Mountain Hut หนึ่งเดียวระหว่างทาง มีโต๊ะม้านั่ง มีห้องน้ำ (100 เยน) สามารถซื้อน้ำ ซื้อของที่ระลึก มาซื้อน้ำร้อนต้มมาม่าตรงนี้ก็ได้ และก็ที่นี่ยังเป็นที่พักแรกด้วยราคาต่อคืน 5,500 เยน ถ้าพร้อมข้าวเช้า/เย็นก็ 8,000 เยน

ร้านขายของที่ระลึก ห้องน้ำ และที่พักของ Yakedake Mountain Hut

ปีนลงต่อไป ระหว่างทางเราก็จะพบกับอุปสรรคอีกซึ่งก็คือ “บันไดลิง” “ไต่ผาเล็กๆ” และบางแห่งจะต้องโหนโซ่ทางซ้ายค่อยๆใช้เท้ายันผากระดึ๊บๆลงไป และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่ต้องเตรียมถุงมือกันลื่นไปด้วย ใครที่กลัวความสูง แนะนำว่าปีนขึ้น-ลงฝั่ง Nakanoyu ดีกว่า

หลังจากเดินลงเป็นเวลาประมาณ 2 ชม. ถ้าได้ยินเสียงแม่น้ำแปลว่าใกล้ถึงทางออกแล้ว และในที่สุดก็ถึงทางออกเวลาประมาณ 14:40 น. หันหลังให้ทางที่เดินลงมา เลี้ยวซ้าย เดินตรงไปเรื่อยๆก็จะออกไปเจอแม่น้ำอะซุสะ หลังจากปีนเขามาเหนื่อยๆ ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้แช่ออนเซ็นผ่อนคลายร่างกาย เราจึงตัดสินใจที่จะค้างคืนกันที่โรงแรม Kamikochi Lemeiesta

Tip! โรงแรม Kamikochi Lemeiesta เป็น 1 ในเพียงโรงแรม 2 แห่งในคามิโคจิที่มีออนเซ็นธรรมชาติ นอกจากนี้ยังอยู่ห่างจากปากทางเข้าเส้นทางปีนเขาฝั่งข้างในคามิโคจิเพียงเดินไม่เกิน 15 นาที Highly Recommended!

Tip! ในบล็อกนี้เราได้แนะนำเส้นทางปีนจาก Nakanoyu ขึ้นยอดเขายาเกะดาเกะแล้วปีนลงเข้ามาฝั่งด้านในคามิโคจิ ซึ่งเราจะกลับเส้นทางกันก็ได้ เช่น อาจจะเดินทางเข้าคามิโคจิก่อนหน้านั้น 1 วัน เดินเทรกสบายๆชมบึงไทโช สะพานคัปปะ เดินเล่นเลียบแม่น้ำหรือจะไปถึงบึงเมียวจินก็ได้ แล้วนอนพักในคามิโคจิใกล้ๆปากทางปีนเขา เพื่อที่จะได้เริ่มปีนเขาจริงจังในเช้าวันถัดไป ขากลับก็นั่งรถบัสกลับจากป้ายรถบัส N-26 Nakanoyu เป็นต้น

แนะนำโรงแรมในคามิโคจิ

โรงแรม Kamikochi Lemeiesta Hotel เป็น 1 ใน เพียง 2 โรงแรมในคามิโคจิที่มีออนเซ็นธรรมชาติให้แช่ บอกได้เลยว่าไม่มีอะไรจะฟินไปกว่าการได้แช่ออนเซ็นอุ่นๆหลังจากเดินป่ามาเหนื่อยๆทั้งวัน แถมยังได้ยินเสียงแม่น้ำอะซุสะที่ไหลผ่านด้านหล้าโรงแรมด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเตียงนุ่มๆ เนื้อวากิวที่ละลายในปากกับอาหารฝรั่งเศสรสเลิศเป็นมื้อเย็นด้วย

ระหว่างทางแอดมินเห็นเด็กอายุสิบกว่าๆ ตายายอายุ 80 มาปีนเขากันด้วย น่ารักมากๆ ที่ญี่ปุ่นถือว่าปกติมากๆเลยที่คนแก่ๆจะมาปีนเขา เทรกกิ้ง อยากให้อากงอาม่าที่เมืองไทยฟิตกันแบบนี้บ้าง ยังไงก็ตามใครที่ไม่ออกกำลังกายเลย อยู่ดีๆจะมาปีน บอกเลยว่าไม่ชิลๆ ใครจะมาปีนต้องเตรียมตัวฟิตร่างกายกันมาบ้างนะคะ ในหนังสือไกด์บุ๊คปีนเขามักจะเขียนว่าใช้ประมาณ 5.5 – 6 ชม.ในการปีนเขายาเกะดาเกะ แต่ใครที่ไม่ได้ปีนเขาเป็นประจำหรือร่างกายไม่ได้ฟิตมาก ควรจะเผื่อเวลาไว้ด้วยนะคะ

Fun Fact! ปีนเขายาเกะดาเกะ 1 วัน จะเบิร์นไปได้กี่กิโลแคลอรี่?
สำหรับคนที่น้ำหนักประมาณ 45 kg จะเบิร์นไปประมาณ 1,198 kcal
สำหรับคนที่น้ำหนักประมาณ 65 kg จะเบิร์นไปประมาณ 1,730 kcal
สำหรับคนที่น้ำหนักประมาณ 85 kg จะเบิร์นไปประมาณ 2,262 kcal
Source: yamaquest.com

การยื่นแผนการเดินป่า (Trekking Itinerary)

ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุ ภัยพิบัติ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนปีนเขาอย่าลืมที่จะยื่น Trekking Itinerary(登山計画書) ที่กรอกชื่อ อายุ เบอร์ติดต่อ แผนการเดินเขาและอุปกรณ์ปีนที่มีเขาด้วย

วิธีการส่ง Trekking Itinerary:
1. ยื่นใส่ลงใน mailbox ที่ตั้งอยู่ที่ปากทางเข้าปีนเขา (บางแห่งไม่มี mailbox)
2. ส่งผ่านเว็บไซต์ด้านล่าง เป็นเว็บไซต์ที่ใช้เครื่องมือแปลภาษาอัตโนมัติ อาจจะเข้าใจยากหน่อย
(เว็บไซต์: https://www.mt-compass.com/index.php
3. ส่งผ่านแฟกซ์โดยส่งไปที่เบอร์ 03-6862-5035 (จังหวัดนากาโนะ) อาจจะขอให้โรงแรมที่พักคืนก่อนหน้าส่งแฟกซ์ให้ก็ได้ (แนะนำว่าวิธีนี้สะดวกที่สุด)

Download link สำหรับแบบฟอร์ม Trekking Itinerary:
https://www.pref.nagano.lg.jp/kankoki/smartphone/documents/keikakusho.pdf

“กำแพงหิมะ” ไม่ได้มีที่ทาเตยามะอัลไพน์รูทที่เดียว!
ชมวิวเทือกเขาเจแปนแอลป์ ขณะแช่ออนเซ็นที่โรงแรมโชโฮ

บทความที่คุณอาจสนใจ

สมบัติของชาติแห่งที่ 2 ของมัตสึโมโต้ – โรงเรียนเก่าไคจิ

เดินทางท่องบ้านเกิดศิลปินยาโยอิ คุซามะด้วย “งานศิลป์เคลื่อนที่” เพียงหนึ่งเดียวในโลก