ใครว่าคามิโคจิไปตอนฤดูหนาวไม่ได้ แอดมินจะพาไปเอง

10 ก.ค. 2019

เนื้อหาบทความ

  1. 1. สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเข้าไปคามิโคจิในฤดูหนาว
  2. 2. อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
  3. 3. สำหรับไกด์แอดมินมีแนะนำ 2 แห่ง สามารถนำทางและมีอุปกรณ์ให้เราเช่าด้วย

โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะค้นข้อมูลจากไกด์บุ๊คหรือเว็บไซต์ไหน ก็มักจะเขียนไว้ว่าคามิโคจิปิดฤดูหนาว ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ถึงคามิโคจิจะปิดก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไปในคามิโคจิไม่ได้ คามิโคจิจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปได้เข้าชมตั้งแต่ 17 เม.ย. – 15 พ.ย. ช่วงระยะเวลาที่เปิดนี้ ร้านค้าและโรงแรมข้างในคามิโคจิจะเปิดให้บริการ ส่วนรถบัสก็สามารถไปได้จนถึงท่ารถบัสข้างในซึ่งอยู่ห่างจากสะพานคัปปะเพียงแค่เดิน 3 นาที

แล้วนอกเหนือจากระยะเวลาข้างบนล่ะ? ที่จริงก็ไปได้ เพียงแต่เราต้องเดินเท้าเข้าไปเอง เพราะรถบัสจะไปจอดใกล้สุดที่ป้าย K-26 Nakanoyu (ใน Google Map เขียนผิดเป็น Chunoyu) จากตรงจุดนั้นเราต้องเดินเข้าไปเอง รถบัสที่ผ่านป้ายรถบัสนี้คือสาย Matsumoto – Takayama

ดูตารางเวลารถบัสสายมัตสึโมโต้ – ทาคายามะ >
*** จากป้ายรถบัส Nakanoyu จนถึงสะพานคัปปะ ระยะทางขาเดียวคือ 6.3 ก.ม.

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนเข้าไปคามิโคจิในฤดูหนาว

1. ข้างในคามิโคจิไม่มีร้านค้าหรือโรงแรมที่เปิดทำการเลย ฉะนั้นต้องเตรียมน้ำและอาหารเข้าไปเอง
2. การตรวจสภาพอากาศและเตรียมอุปกรณ์เครื่องแต่งกายเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
3. ก่อนเข้าไปในคามิโคจิต้องส่งแผนการเดินป่า (Mountain climbing registration form) ที่ประตูอุโมงค์ทางเข้า Nakanoyu
4. ห้องน้ำมีให้ใช้ที่ Nakanose ท่ารถบัส บึงTaisho และ Konashi-daira (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม

1. ร้องเท้าสโนว์ชูว์หรือปลอกกันลื่นบนหิมะ (Crampons) ขึ้นอยู่กับสภาพหิมะ
2. แว่นกันแดด ครีมกันแดด เสื้อผ้าอุปกรณ์กันหนาว เป้สะพานหลัง อาหาร/น้ำ

ทั้งอุปกรณ์ การเช็คสภาพอากาศ ดูเส้นทางต่างๆนั้น เราคนไทยโดยเฉพาะคนที่ไปเป็นครั้งแรกคงจะเตรียมตัวไม่ถูกแน่ๆ เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย แนะนำให้จ้างไกด์ท้องถิ่นไปด้วยจะดีที่สุด เพราะไกด์จะช่วยเตรียมอุปกรณ์ ยื่นเอกสารแผนการเดินป่าและให้คำแนะนำเราต่างๆ ซึ่งไกด์ที่แนะนำจะไว้ที่ด้านล่างของบทความค่ะ

เริ่มต้นที่นัดกับไกด์ "ฟุจิเอะซัง" ที่ป้ายรถบัส K-26 Nakanoyu ครั้งนี้เราเตรียมอุปกรณ์ไปเองเท่าที่มีคือ เสื้อผ้ากันหนาว เสื้อแจ็คเก็ตกันลมกันน้ำ ถุงมือ น้ำ อาหาร กันแดด แว่นตากันแดด ทิชชู กล้องถ่ายรูป ส่วนที่ไกด์เตรียมให้คือ 1. รองเท้า 2. ปลอกกันลื่นบนหิมะ (Crampons) ซึ่งที่ไม่ใช้เป็นรองเท่าสโนว์ชูวส์ทั่วไปเพราะหิมะเริ่มละลายแล้ว ไม่ได้เป็ยปุยๆแบบเพิ่งตกใหม่ๆ 3. ไม้เท้าเดินป่า (Trekking poles) และ 4. แผ่นกันหิมะเข้ารองเท้า (Gaiters)

จากอุโมงค์ที่ป้ายรถบัส K-26 Nakanoyu เราจะเดินผ่านอุโมงค์เข้าไป 2 อัน คืออุโมงค์คามะ (Kama Tunnel) ยาว 1,310 ม. ความชัน 11 องศา ส่วนอุโมงค์ที่สองคืออุโมงค์คามิโคจิ (Kamikochi Tunnel) ความยาว 588 ม. รวมระยะทางทั้งหมด 1,890 ม. นี่แค่อุโมงค์อย่างเดียวก็เกือบ 2 กิโลแล้ว

เริ่มเดินจาก Nakanoyu เวลา 9:30 น. พอผ่านอุโมงค์มาได้สักพักก็เริ่มเห็นความอลังการของคามิโคจิ และเริ่มตั้งแต่บริเวณบึงไทโช เราก็เริ่มใส่ crampons เข้ากับรองเท้า ซึ่งจะใส่ตอนไหนก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและสภาพหิมะตอนนั้นค่ะ

เราจะเริ่มเทรกบนหิมะจากบึงไทโชตรงนี้ไปจนถึงสะพานคัปปะกัน (ตอนนี้เวลา 10:40 น.)

อีกมุมยอดนิยมในคามิโคจิจากบึงไทโช ต้นไม่แห้งโกร๋นที่เห็นอยู่ในรูปคือต้น Karamatsu ที่จะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวและเหลืองในฤดูร้อนและใบไม้ร่วง ถึงแม้จะโกร๋นแต่ก็ยังสวยอลังเช่นเดิม

ภูเขาไฟยาเกะดาเกะ (Mt. Yake) คลิกที่นี่เพื่ออ่านรีวิวปีนภูเขาไฟยาเกะดาเกะ

ในความขาวโพลนก็ยังมีต้นไม้สีเขียวให้เชยชม ต้นไม้พวกนี้เป็นพืชพวกที่ไม่ผลิใบ

ตรงนี้คือวิวเทือกเขาโฮทากะจากใกล้ๆบึง Tashiro เห็นแล้วอยากทิ้งตัวลงไปนอนเกลือกกลิ้ง

โรงแรม Kamikochi Lemeiesta กับต้นเคะโชยานากิ (Kesho-Yanagi) ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น ต้นไม้ชนิดนี้เป็นต้นไม้หายาก ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นมีเพียงที่ฮอกไกโดกับคามิโคจิเท่านั้นที่มีต้นไม้ชนิดหลงเหลืออยู่ คนญี่ปุ่นสมัยก่อนนำต้นไม้ชนิดนี้มาทำเป็นเครื่องสำอาง

ในที่สุดก็ถึง “สะพานคัปปะ” เป้าหมายของเราในวันนี้ รับรองว่าถ่ายรูปได้เต็มที่ไม่ติดหัว ติดมือใครเลย
และนี่คือวิวที่ประทับใจที่สุดในวันนี้ คามิโคจิเนี่ยขอให้เป็นวันฟ้าใส ไม่ว่าจะเป็นฤดูไหน แอดมินยืนยันถ่ายรูปออกมายังไงก็สวย

ถึงสะพานคัปปะเวลาประมาณ 12:30 น. อาหารเที่ยงง่ายๆเป็นแซนวิชกับชาร้อนๆที่คุนไกด์ต้มให้ ระหว่างที่นั่งพักไม่ได้ขยับเขยื้อนตัว ตอนนี้แหละที่เราจะรู้สึกหนาว เพราะฉะนั้นการเตรียมเสื้อกันลมมาจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ถ่ายรูปไกด์สุดหล่อ “ฟุจิเอะซัง” อีกซักรอบ ก่อนเดินทางกลับ

ระหว่างทางเจอฝูงลิงจ๋อออกมาทักทาย ดูทะเล้นน่ารัก ตัวกลมๆฟูๆน่ากอดมาก

จบทริปกลับออกมาถึงอุโมงค์ด้านนอกเวลา 15:30 น. ใช้เวลาทั้งหมด 6 ชั่วโมง ซึ่งความจริงแล้วไกด์บอกว่าโดยทั่วไปจะใช้เวลาน้อยกว่านี้ แต่เนื่องจากเราแวะถ่ายรูปบ่อยเลยออกมาช้า แนะนำว่าเทรกกิ้งเสร็จให้ไปแช่ออนเซ็นโดยด่วน โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย

สำหรับไกด์แอดมินมีแนะนำ 2 แห่ง สามารถนำทางและมีอุปกรณ์ให้เราเช่าด้วย

1. Guesthouse Raicho
2. NORTHSTAR Alpine Lodge

เป็นยังไงบ้างคะ มีใครอ่านแล้วอยากไปบ้าง (หรือว่ายกมือยอมแพ้ :D)
คราวหน้าแอดมินจะพาไปไหน อย่าลืมคลิกติดตาม Facebook นะคะ

เทรกกิ้งชมศาลเจ้าทั้ง 5 @Togakushi
พาไปเทรกกิ้งชม "บึงฮัปโป" @ฮาคุบะ

บทความที่คุณอาจสนใจ

ท่องเที่ยวไปในมัตสึโมโต้กับ “เอ็นโด นากิสะ” มาสคอตสุดคิ้วท์ของรถไฟสายคามิโคจิ

เมืองแห่งปราสาทอีกาดำ: รวมสถานที่ สิ่งน่าสนใจและอาหารที่ต้องลองเมื่อไปเที่ยวมัตสึโมโต้ (Matsumoto) – อัพเดตปี 2023