“คาราซาว่าเซิร์ก” (Karasawa Cirque) จุดเดินป่าฤดูใบไม้เปลี่ยนสีที่สวยที่สุดในคามิโคจิ

18 ธ.ค. 2020

ใครเห็นด้วยบ้างว่าไปเดินป่าฤดูใบไม้ร่วงนี่เป็นอะไรที่ฟินที่สุดแล้ว อากาศก็ดี ใบไม้ก็กำลังไล่เฉดสีสวยงามทั้งเหลือง ส้ม แดง และหนึ่งในสถานที่เดินป่าที่สวยที่สุดในนากาโนะ โดยเฉพาะที่คามิโคจิก็คือที่ “คาราซาวะเซิร์ก” (Karasawa Cirque)

เนื้อหาบทความ

  1. 1. “คาราซาว่าเซิร์ก” คืออะไร?
  2. 2. ข้อมูลเบื้องต้น
  3. 3. วางแผนการเดินป่า
  4. 3.1. แผนที่เดินป่า
  5. 3.2. เวลาและความชันในการเดิน
  6. 3.3. ร้านอาหารและห้องน้ำ
  7. 3.4. ที่พักบนเขาและที่กางเต็นท์
  8. 3.5. ยื่นแผนการเดินป่า
  9. 4. เส้นทางการเดินเขา
  10. 4.1. ท่ารถบัสคามิโคจิ
  11. 4.2. โยะโกซันโซ (Yokoo Sanso)
  12. 4.3. สะพานฮอนดะนิ (Hondani Bridge)
  13. 4.4. S Gare
  14. 4.5. คาราซาว่าเซิร์ก (Karasawa Cirque)
  15. 5. ไฮไลต์ของทริป
  16. 6. การเดินทางไปคามิโคจิ
  17. 6.1. จากมัตสึโมโต้ไปคามิโคจิ
  18. 6.2. จากโตเกียวไปคามิโคจิ
  19. 6.3. จากโอซาก้าไปคามิโคจิ
  20. 6.4. จากนากาโนะไปคามิโคจิ
  21. 6.5. จากทาคายามะไปคามิโคจิ

“คาราซาว่าเซิร์ก” คืออะไร?

“เซิร์ก” (cirque) เป็นคำศัพท์ทางภูมิศาสตร์หมายถึงสภาพภูมิศาสตร์ของหุบเขาที่มีลักษณะคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยวหรือชาม ซึ่งมีความลาดชันสูง เกิดจากการการกัดกร่อนโดยธารน้ำแข็ง คาราซาว่าเซิร์กอยู่บนความสูงประมาณ 2,300 เมตร เป็นหนึ่งในจุดที่สวยที่สุดในการชมใบไม้เปลี่ยนสีในนากาโนะ อาจจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่ชอบเดินป่าแล้ว คาราซาว่าเซิร์กต้องอยู่ใน bucket list ของหลายๆคนแน่นอน นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นเบสสำหรับปีนเขาไปยอดต่างๆของเทือกเขาโฮทากะ (Hotaka) ด้วย สำหรับช่วงพีคของใบไม้เปลี่ยนสีที่นี่จะอยู่ช่วงราวๆปลายเดือนกันยายนจนถึงต้นเดือนตุลาคม เร็วกว่าคามิโคจิด้านล่างบริเวณสะพานคัปปะประมาณ 2-3 สัปดาห์

ข้อมูลเบื้องต้น

ระยะทาง: ประมาณ 30 กิโลเมตร
ระยะเวลาเดิน ประมาณ 11 ชั่วโมง (2 วัน 1 คืน)
ความชัน: 800 เมตร
ฤดูกาลในการเดิน: เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม

แผนการเดินป่า:
Day1: ท่ารถบัสคามิโคจิ > โทะคุซาวะ (Tokusawa)> โยะโกะโอะ ซันโซ (Yokoo Sanso) > คาราซาว่าเซิร์ก
Day 2: คาราซาว่าเซิร์ก > โยะโกะโอะ ซันโซ (Yokoo Sanso) > โทะคุซาวะ (Tokusawa) > ท่ารถบัสคามิโคจิ

วางแผนการเดินป่า

แผนที่เดินป่า

เนื่องจากภูเขามันเชื่อมต่อกันทั้งหมด ดังนั้นความจริงแล้วจึงเดินได้หลายเส้นทาง แต่วันนี้เราจะเขียนเล่าประสบการณ์ที่เราเดินจากฝั่งคามิโคจิ ซึ่งเป็นเส้นทางที่ง่ายและนิยมที่สุดกันค่ะ

เวลาและความชันในการเดิน

ระยะทางทั้งหมดเดินไปกลับเป็นระยะทางประมาณ 30 กม.ทริปนี้เราจัดแผนเดินแบบ 2 วัน ค้าง 1 คืนที่ Karasawa Hutte แต่ถ้าใครเดินช้ามาก เพิ่งเริ่มเดินป่าหรือเริ่มออกเดินทางสาย อาจจะต้องพิจารณานอนที่ Yokoo Sanso แทน แผนการเดินก็อาจจะออกมาประมาณนี้

Day 1: ท่ารถบัสคามิโคจิ > Yokoo Sanso (ค้างคืน)
Day 2: Yokoo Sanso > Karasawa Cirque > Yokoo Sanso (ค้างคืน)
Day 3: Yokoo Sanso > ท่ารถบัสคามิโคจิ

แต่ไม่ว่าจะวางแผนยังไง ก็ต้องให้แน่ใจว่าสามารถไปถึงที่พักบนเขาหรือที่ตั้งเต็นท์ประมาณบ่าย 2-3 (อย่างช้าที่สุดก่อนบ่าย 4 โมง)

ร้านอาหารและห้องน้ำ

อย่างที่เห็นบนแผนที่ระหว่างทางจากท่ารถบัสไปจนถึง Yokoo Sanso จะมีห้องน้ำและร้านอาหารไปตลอดทางสะดวกสบายมากๆ (แต่ก็ยังต้องเตรียมอาหารสำเร็จรูปพกติดตัวไปด้วย) ห้องน้ำที่คามิโคจิใช้ระบบทิปคือต้องจ่ายค่าบำรุงครั้งละ 100 เยน แนะนำให้เตรียมเหรียญร้อยเยนไปด้วย เพราะไม่มีการทอนเงิน นอกจากนี้ห้องน้ำที่นี่ยังเป็นห้องน้ำชีวภาพ ถือว่าสะอาดใช้ได้สำหรับห้องน้ำในป่าเขา แต่อย่าได้หวังที่จะเห็นห้องน้ำไฮเทคของญี่ปุ่นนะคะ

ที่พักบนเขาส่วนมากจะมีเมนูอาหารเที่ยง ขนม เครื่องดื่มขายให้กับนักเดินป่าทั่วไปที่ไม่ได้พักด้วย ยิ่งขึ้นไปสูงราคาก็ยิ่งแพง ซึ่งเมื่อคิดถึงค่าขนส่งก็ถือว่าสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างที่ Karasawa Hutte ขายโค้ก 1 ขวดเล็ก ราคา 400 เยน ประมาณ 2.5 เท่าของราคาปกติ

ที่พักบนเขาและที่กางเต็นท์

ถึงแม้ว่าที่พักบนเขาจะไม่ปฏิเสธไม่ให้เข้าพัก (เพราะถ้าปฏิเสธก็เท่ากับปล่อยให้นักเดินเขาออกไปประสบภัย) เราควรที่จะทำการจองล่วงหน้าทุกครั้ง เพราะการเข้าพักโดยไม่จองก่อนจะเป็นการเพิ่มภาระของสตาฟเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ถ้าจองแล้วแต่ไม่สามารถไปได้ก็ต้องแจ้งที่พักให้ทราบด้วย การที่ไม่ปรากฏตัวอาจจะทำให้สตาฟเข้าใจผิดคิดว่าเราประสบเหตุหรือหลงทาง ดีไม่ดีอาจถึงขึ้นเรียกให้ทีมช่วยเหลือออกตามหาตัวเลยก็ได้ สำหรับคนที่พกเต็นท์ขึ้นไปเองไม่จำเป็นต้องจองที่ล่วงหน้าค่ะ

แนะนำ: ที่พักบนเขาส่วนใหญ่ไม่รับบัตรเครดิต ควรเตรียมเงินสดไปให้พร้อม

*ราคาประมาณต่อคนรวมอาหาร 2 มื้อ / **อาบน้ำอย่างเดียว ห้ามใช้สบู่และแชมพู

สำหรับข้อมูลล่าสุด โปรดสอบถามที่พักแต่ละแห่งโดยตรง

Tokusawa lodge เป็นที่พักบนเขาที่สะดวกสบายที่สุดใน 4 แห่ง ถึงขนาดมี Wi-Fi ฟรีและมีชุด amenities ให้ใช้เหมือนโรงแรมทั่วไปด้วย แต่อยู่ห่างจากคาราซาว่าเซิร์กที่สุด Yokoo Sanso ก็เป็นอีกหนึ่งที่พักบนเขาที่สะดวกสบายโดยเฉพาะสำหรับนักเดินเขามือใหม่เพราะมีโรงอาบน้ำให้ชำระเหงื่อไคลสิ่งสกปรกได้ด้วย แต่ห้ามใช้สบู่และแชมพู

Karasawa Hutte และ Karasawa-koya เป็นที่พักบนเขา 2 แห่งที่ที่นิยมที่สุดสำหรับคนที่เดินทางไปคาราซาว่าเซิร์ก แต่ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว Karasawa Hutte น่าจะเป็นที่นิยมมากกว่าเพราะหันหน้าเข้าทางวิว ในช่วงชมใบไม้เปลี่ยนสีคนจะเยอะมาก ถึงขนาดฟูกหนึ่งอันต้องแบ่งกันนอนกับอีก 2 คนเลยทีเดียว สามารถจองที่พักได้ 1 เดือนล่วงหน้าโดยผ่านทางโทรศัพท์เท่านั้น

ยื่นแผนการเดินป่า

ใครก็ตามที่จะเดินขึ้นเขาออกนอกบริเวณที่ราบในคามิโคจิไปต้องยื่นแผนการเดินป่า โดยสามารถส่งได้ที่ตู้รับแบบฟอร์มที่ตั้งอยู่ที่หน้าทางเข้าศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวข้างๆห้องน้ำสาธารณะ แบบฟอร์มสำหรับกรอกมีเตรียมไว้ที่ตู้รับ แต่แนะนำว่าให้ดาวน์โหลดแบบฟอร์มและกรอกข้อมูลไปเลยจะดีกว่า จะได้ไม่คลุกคลักและจะได้เช็คได้ด้วยว่าเตรียมของไปครบแล้วหรือเปล่า

ดาวน์โหลดแบบฟอร์มแผนการเดินป่าได้ที่นี่ >

ตู้รับแบบฟอร์มแผนการเดินป่า

เส้นทางการเดินเขา

ท่ารถบัสคามิโคจิ

ตามหลักการเดินป่าคือออกเดินทางให้ไวและไปถึงที่พักให้เร็ว โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่จะเริ่มออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ 06:30 – 08:00 น. ถ้าใครที่ออกเดินทางช้ากว่านั้นควรจะเร่งเดินทำเวลา หรือไม่ก็วางแผนค้างคืนที่พักที่อยู่ต่ำลงมา เช่นอาจจะนอนที่ Yokoo Sanso แล้วค่อยขึ้นไปคาราซาว่าเซิร์กในวันรุ่งขึ้นแทน จากท่ารถบัสไป Yokoo Sanso เป็นระยะทางประมาณ 10 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมง เส้นทางในช่วงนี้จะเป็นที่ราบ มีเนินบ้างเพียงเล็กน้อย ถือเป็นการเดินวอร์มอัพร่างกายได้ดีเลย

หลังจากพระอาทิตย์ขึ้น ที่ท่ารถบัสคามิโคจิก็เริ่มมีนักเดินเขาเดินกันขวักไขว่เพื่อ เตรียมตัวเพื่อออกเดินทาง
อภิสิทธิ์สำหรับคนที่มาคามิโคจิแต่เช้า คือการได้ชมวิวและสะพานคัปปะแบบไม่มีหมู่มวลนักท่องเที่ยวเลย

สำหรับใครก็ตามที่ไม่อยากนั่งไนท์บัสหรือต้องตื่นมาขึ้นรถบัสตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง สามารถเลือกที่จะนอนในคามิโคจิก็ได้

อ่านเพิ่มเติม: โรงแรมแนะนำในคามิโคจิ (มีออนเซ็นธรรมชาติด้วย!)

จากท่ารถบัสคามิโคจิ จะเดินฝั่งไหนของแม่น้ำอะสุซะก็ได้ แต่ถ้าเลือกเดินฝั่งขวา (ฝั่งตรงข้ามกับท่ารถบัส) จะต้องข้ามสะพานเมียวจินกลับมาอีกฝั่งหนึ่ง

หลังจากเดินไปประมาณ 1 ชั่วโมง เราก็จะเจอกับแลนด์มาร์คแรกคือ “เมียวจินคัง” (Myojin-kan) เป็นที่พักและร้านอาหารไม่ไกลจากบึงเมียวจิน หนทางยังอีกยาวไกล เราเดินจึงเดินผ่านไปโดยไม่แวะหยุดทำอะไร

ยอดเขาหยึกหยักทางด้านหลังคือภูเขาเมียวจิน (Mt. Myojin)

ทางเดินเดินง่ายมาก ครึ่งหนึ่งของเส้นทางจะเป็นการเดินเลียบแม่น้ำย้อนขึ้นไป ทางด้านซ้ายมือจะมองเห็นแม่น้ำสีฟ้าใสแจ๋วได้เป็นครั้งคราว

จุดถัดไปคือ “โทะคุซาว่า” (Tokusawa) อยู่ห่างจากสะพานคัปปะประมาณเดิน 2 ชั่วโมงถ้าใครที่นี่ตอนช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงต้นมิถุนายน จะพบกับดอกนิรินโซสีขาวน่ารักเต็มไปหมดบนพื้นหญ้า เป็นสัญลักษณ์ของการมาของฤดูใบไม้ผลิในคามิโคจิ

บริเวณที่ตั้งเต็นท์ข้างๆ Tokusawa Lodge ล้อมรอบไปด้วยร่มไม้ร่มรื่น เหมาะเป็นสถานที่ตั้งแคมป์มากๆ
เดิน เดิน เดิน!
ฝาแฝดดอกเห็ด!

โยะโกซันโซ (Yokoo Sanso)

ออกจากโทะคุซาว่าเดินไปอีก 1 ชั่วโมงก็จะถึงที่พักบนเขาโยะโกซันโซ (Yokoo Sanso) เราหยุดพักและแวะเข้าห้องน้ำที่นี่สักครู่ ก่อนจะเดินข้ามสะพานโยะโกโอฮาชิ (Yokoo Ohashi Bridge) หลังจากนี้ไปจะเป็นการเดินขึ้นเขาจริงๆแล้ว เส้นทางหลังจากข้ามสะพานไปจะเป็นทางเดินก้อนหินช่วงสั้นๆก่อนกลับไปเป็นทางเดินในป่าอีกครั้ง

ที่พักบนเขาโยะโกซันโซ (Yokoo Sanso)
สะพานโยะโกโอฮาชิ (Yokoo Ohashi Bridge) อยู่ด้านหน้าที่พักบนเขาโยะโกซันโซเลย
ทางเดินหินช่วงสั้นๆเดินไม่นาที

สะพานฮอนดะนิ (Hondani Bridge)

เดินต่อไปอีก 1 ชั่วโมงจะถึงสะพานฮอนดะนิ (Hondani Bridge) อีกหนึ่งจุดชมวิวที่สวยงามบนเส้นทางนี้ บริเวณรอบๆสะพานจะเป็นโขดหินเล็กใหญ่ระเกะระกะราวกับเป็นม้านั่งธรรมชาติ ทำให้เป็นจุดที่คนนิยมแวะพักและรับประทานอาหาร

เราหยุดพักกันที่นี่ แกะขนมปังแกงกระหรี่ที่ซื้อมาจาก 7-11 กินกัน ระหว่างกินก็มองเมฆที่ลอยเอื่อยๆ บนฟ้า ฟังเสียงน้ำไหลข้างๆตัว ไม่น่าเชื่อเลยว่าแค่นี้ก็ทำให้ขนมปังธรรมดาๆรู้สึกอร่อยขึ้นมาทันตา (แต่ใจจริงแอบอยากกินหอมผัดกับไส้กรอกที่ส่งกลิ่นหอมจากเตาของคนข้างๆ...)

ขนมปังแกงกระหรี่จาก 7-11 ถ้าเป็นของกินจากร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น มั่นใจได้เลยว่าอร่อยแน่นอน
ขอกินด้วยได้มั๊ย... (emoji)
นักปีนเขากำลังเดินข้ามสะพานฮอนดะนิ
เมฆหน้าตาประหลาด แต่สวย

จากจุดนี้ไปทางเดินจะชันมาก ระหว่างเดินขึ้นไป เราเจอคุณป้าคนนึงเดินกะโผลกกะเผลกลงมา มีไม้ดามขาที่ทำมาจากไม้เท้าเดินป่าพันอยู่กับขาข้างหนึ่ง เห็นคุณป้าแกร้องไห้แบบไม่มีเสียงแล้วก็สงสาร หลังจากนั้นก็เจอทีมช่วยเหลือเดินสวนลงมาอย่างเร่งรีบ เดาว่าน่าจะกำลังไปช่วยคุณป้าคนนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนต้องระมัดระวังให้มากนะคะ!

ทางเดินชันเป็นหินขนาดหลากหลาย บางจุดลื่นมาก บางจุดก็เป็นหินที่วางไว้หลวมๆ ต้องใช้ความระมัดระวังมาก

มาถึงอีกจุดหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของเส้นทางคือ ช่วงทางเดินหินสั้นๆ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นกำแพงก้อนหินลาดชัน และอีกด้านหนึ่งเป็นหุบเขาสวยงาม เชื่อว่าทุกคนต้องอยากหยุดถ่ายรูปแน่นอน แต่ว่าที่จริงจุดนี้ค่อนข้างอันตรายเสี่ยงต่อการที่หินจะหล่นลงมา ดังนั้นให้เดินผ่านไปไม่ควรที่จะหยุดอยู่นาน

วิวหุบเขาสวยงามในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีกับท้องฟ้าแจ่มใส วิวสวยแต่อันตรายก่อนที่จะถึง S Gare

S Gare

ป้ายนี้บอกตำแหน่งว่าเรามาถึงจุดที่เรียกว่า “S Gare” คำว่า “Gare” ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงเศษหินขนาดเล็กๆจำนวนมากบนทางลาดบนเขา จุดนี้ไม่มีอะไรพิเศษเพียงบอกว่าเราอยู่อยู่ห่างจากคาราซาว่าอีกเพียงแค่ 1 ชั่วโมง

ป้ายไม้“S Gare” ตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีอะไรสะดุดตา เผลอๆอาจจะเดินผ่านไปโดยไม่สังเกตเห็นด้วยซ้ำ

วิวตลอดทางเดินที่ผ่านมาก็ว่าสวยแล้ว แต่ยิ่งเข้าใกล้คาราซาว่าเซิร์กก็ยิ่งสวยขึ้นไปอีก เพราะเราจะเห็นใบไม้สีเหลือง ส้ม แดงมากขึ้นตามระดับความสูงที่เราไต่ขึ้นไป

คาราซาว่าเซิร์ก (Karasawa Cirque)

หลังจากเดินมานานกว่า 6 ชั่วโมง เราก็มาถึงคาราซาว่าเซิร์กแล้ว! วิวตรงหน้าเราบอกได้คำเดียวเลยว่า “ว้าว!” ไม่น่าเชื่อเลยว่าเทือกเขาโฮทากะที่เรามองเห็นจากสะพานคัปปะจะอยู่ตรงหน้าเหมือนใกล้แค่เอื้อมแค่นี้ (แต่จริงๆยังต้องใช้เวลาเดินและปีนอีก 4 ชั่วโมงกว่าจะถึงยอดที่สูงที่สุด คือยอดเขาโอะคุโฮทากะ) เต็นท์หลากหลายสีสันที่อยู่ด้านล่าง มองดูๆไปก็เหมือนกับว่ามีใครมาโปรยช็อกโกแลต m&m’s ไว้อย่างไรอย่างนั้น

ใครเห็นด้วยบ้างว่าไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการกินของอร่อยๆไปพลางชมธรรมชาติสวยงาม ของดังของร้านคือเมนูโอเด้ง แต่ตอนเรามาขายหมดแล้วเลยสั่งโชยุราเมนมากินแทน แถมที่นั่งดีๆก็มีคนนั่งหมดแล้วเลยต้องนั่งที่ที่ยังว่างอยู่ แต่ที่จริงพอขึ้นมาถึงที่นี่แล้ว ไม่ว่าที่นั่งตรงไหนก็สวยทั้งนั้น

โชยุราเมน 1,000 เยน กับโค้ก 400 เยน
เมนูอื่นๆของร้านมีมากมาย เช่น ข้าวแกงกะหรี่ ข้าวหน้าเนื้อ มาม่าคัพ รวมถึงเครื่องดื่มและเบียร์ และแน่นอนว่าต้องมีซอฟต์ครีมด้วย!

น่าเสียดายว่าหลังจากขึ้นมาถึงไม่กี่นาที ท้องฟ้าก็ครึ้มเมฆขึ้นมาทันที ทำให้ไม่ค่อยได้รูปดีๆเท่าไหร่

เมื่อมองไปที่เซิร์กจะเห็นลักษณะเนินเขาที่เว้าแหว่งเข้าไปเหมือนกับเวลาที่เราตักไอศกรีมออกไปเลย

ที่นั่งบนระเบียงสำหรับนั่งเล่น กินอาหารและชมวิว

ที่พักของเราวันนี้คือ Karasawa Hutte เดินลงไปจากระเบียงที่นั่งเพียงไม่กี่ก้าว เป็นที่พักบนเขาที่ค่อนข้างเป็นระเบียงเรียบร้อย สะดวกสบาย ประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลัง

ห้องรับประทานอาหารกับเคาน์เตอร์เช็คอินจะอยู่ในอาคารด้านบนนี้
มีขายของฝากและอุปกรณ์สำหรับเดินป่าเล็กๆน้อย
ห้องรับประทานอาหารไม่กว้างมาก แต่อบอุ่นและสะอาดเป็นระเบียบดี

เราได้ห้องเตียง 2 ชั้น นอนกัน 8 คน สำหรับที่พักบนเขา ภายในห้องก็สะอาดในระดับหนึ่ง แต่ถ้าใครไม่สบายใจก็สามารถซื้อแผ่นรองนอนแบบใช้แล้วทิ้งมาสอดรองนอนใต้ที่นอนกับผ้าห่มก็ได้ เท่าที่สังเกตดูก็จะมีห้องแบบอื่นที่ทุกคนนอนเรียงกันแบบที่พักบนเขาที่อื่นด้วย เวลาปิดไฟที่นี่คือตอน 3 ทุ่มตรง

ห้องที่เรานอนคืนนี้

อาหารเช้าและอาหารเย็นถูกแบ่งออกเป็น 3 รอบ รอบละ 30 นาที ซึ่งสตาฟจะแจ้งรอบให้เราทราบตอนเช็คอิน

อาหารเย็น (ซ้าย) และอาหารเช้า (ขวา) สามารถขอข้าวและซุปมิโสะเพิ่มได้

คำแนะนำ: คนที่นอนเต็นท์สามารถใช้ห้องน้ำได้ด้วยโดยเสียเงินครั้งละ 100 เยน ส่วนแขกที่มาพักสามารถใช้ได้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม ในตอนเช้าคิวรอเข้าห้องน้ำจะยาวมาก ถ้าไม่อยากรอก็อาจจะต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำก่อนที่คิวจะยาว

ร้านอาหารบนระเบียงด้านบนเปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

ไฮไลต์ของทริป

หลังเวลาอาหารเย็น เราออกไปบนระเบียงด้านบนเพียงชมไฮไลต์ของคืนนี้ ภาพที่เห็นมองลงไปบริเวณกางเต็นท์นั้นช่างสวยงามอย่างน่ามหัศจรรย์ แสงไฟภายในเต็นท์ที่ลอดออกมาแต่งแต้มความมืดรอบด้านเป็นสีสันสดใสราวกับลูกกวาดเรืองแสง นอกจากนี้ยังเห็นรูปร่างสลัวๆของเทือกเขาโฮทากะด้านหลังตัดกับท้องฟ้ายามโพล้เพล้ที่ใกล้จะมืดสนิทด้วย

ได้ยินมาว่าที่นี่มีสถิติวางเต็นท์จำนวนมากที่สุดถึง 1,400 หลังเพียงใน 1 คืนเท่านั้น ที่เห็นอาคารด้านหลังตั้งอยู่โดดเด่นด้านหลังคือ Karasawa Koya ที่พักบนเขาอีกแห่งหนึ่ง หลังจากเต็มอิ่มกับวิวนี้แล้วก็ไปเตรียมของสำหรับวันรุ่งขึ้น และเข้านิทราหลับฝันดีพร้อมที่จะลุยกับวันใหม่

เช้าวันรุ่งขึ้นค่อนข้างจะยุ่งเล็กน้อย เราตื่นแต่เช้าเพื่อมาเข้าห้องน้ำ (จะได้ไม่ต้องรอคิวนาน) จัดข้าวของ กินข้าวเช้า แล้วไปเตรียมพร้อมจองที่เพื่อดูปรากฏการณ์ morgenrot อันตระการตา ซึ่งเกิดจากการที่เมื่อเวลาพระอาทิตย์ขึ้น จะส่องแสงไปกระทบกับยอดเขาต่างๆ เกิดเป็นแสงที่แดงส้มที่ยอดเขาเหล่านั้น คำๆนี้มาจากภาษาเยอรมันคือคำว่า “morgen” (ตอนเช้า) และ “rot” (สีแดง) ปรากฏการณ์อันน่าประทับใจนี้เกิดขึ้นเพียง 5-10 นาทีเท่านั้น และต้องมีเงื่อนไขต่างๆประกอบกันด้วย เรียกได้ว่าครั้งนี้โชคดีไม่เสียแรงเดิน

จังหวัดนากาโนะนั้นล้อมรอบด้วยภูเขาสูงมากมาย รวมถึงเทือกเจแปนแอลป์ที่ทอดผ่านจังหวัดเป็นแนวยาว เราสามารถชมปรากฏการณ์ นี้ได้จากหลากหลายที่ morgenrot แม้กระทั่งจากภายในตัวเมืองเอง ถ้ามีโอกาส ไม่แน่เราอาจะจะเขียนบทความหัวข้อนี้ก็ได้ค่ะ


การเดินทางไปคามิโคจิ

เหตุผลหนึ่งที่คนนิยมปีนเขาจากฝั่งคามิโคจิก็เพราะการเดินทางที่สะดวกด้วยเส้นทางรถบัสที่มุ่งสู่คามิโคจิจากเมืองหลักต่างๆ

เส้นทางรถบัสที่ไปคามิโคจิ

จากมัตสึโมโต้ไปคามิโคจิ

เมืองมัตสึโมโต้เป็นเมืองที่สำคัญในการตั้งต้นเดินทางไปคามิโคจิ จากสถานี JR มัตสึโมโต้ ชานชาลาหมายเลข 7 นั่งรถไฟสายคามิโคจิ (Kamikochi line) เป็นเวลา 30 นาทีไปลงที่ปลายทางสถานีชินชิมะชิมะ (Shin-Shimashima) หลังจากนั้นก็เปลี่ยนไปนั่งรถบัสต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงก็จะถึงคามิโคจิ รอบรถไฟและรถบัสมีค่อนข้างถี่ทุกๆชั่วโมง ส่วนรถบัสตรงให้บริการเพียงวันละ 2 รอบ เวลาแรกตอนเช้าตี 5 ครึ่ง และอีกรอบตอน 10:15 น.
ดูตารางเวลารถบัสสายมัตสึโมโต้ – คามิโคจิ >

อ่านเพิ่มเติม: การเดินทางจากมัตสึโมโต้ไปคามิโคจิโดยรถบัส (ละเอียดที่สุด)

จากโตเกียวไปคามิโคจิ

รถบัสออกเดินทางจากสถานีโตเกียวและจากท่ารถบัสชินจูกุ (Shinjuku Expressway Bus Terminal) 2 รอบ คือ รอบกลางดึกและรอบเช้า ซึ่งรถบัสรอบกลางคืนจะใช้เวลาเดินทางนานกว่ารอบเช้า เพื่อที่จะได้ไปถึงคามิโคจิตอนที่สว่างแล้ว ตอนจองสามารถเลือกที่นั่งแบบ 3แถว (กรีนคาร์) หรือแบบธรรมดา 4 แถวได้ แบบ 3 แถวจะมีที่นั่งที่กว้างขวางกว่าและยังมีแจกชุดอเมนิตี้ให้ด้วย
ดูตารางเวลารถบัสสายสถานีโตเกียว – คามิโคจิ >
ดูตารางเวลารถบัสสายชินจูกุ – คามิโคจิ >

นอกจากนี้ยังมีรถบัสที่ออกเดินทางจากชิบุย่าและคาวาโกะเอะด้วย โดยจะให้บริการเพียงวันละรอบ และใช้รถบัสแบบที่นั่ง 4 แถวเท่านั้น
ดูตารางเวลารถบัสสายชิบุย่า– คามิโคจิ >
ดูตารางเวลารถบัสสายคาวะโกเอะ/โอมิยะ – คามิโคจิ >

อีกหนึ่งวิธีเดินทางไปคามิโคจิจากโตเกียวคือ นั่งรถไฟ JR limited express Azusa (2.5-3 ชั่วโมง / 6,900 เยน) หรือรถบัสอัลปิโก้ (3.15 ชั่วโมง / 3,800 เยน) ไปมัตสึโมโต้ก่อน แล้วค่อยเปลี่ยนไปนั่งรถไฟรถบัสต่อไปคามิโคจิ

จากโอซาก้าไปคามิโคจิ

รถบัสสายโอซาก้า – คามิโคจิให้บริการวันละ 2 รอบ รอบกลางคืนจะใช้รถบัสแบบที่นั่ง 3 แถว (กรีนคาร์) เพื่อความสะดวกสบายที่มากขึ้น เพราะรถบัสรอบกลางคืนจะใช้เวลาเดินทางนานกว่า เพื่อให้เวลาที่ไปถึงคามิโคจิตอนเช้าไม่มืดเกินไป ส่วนรอบที่ออกเดินทางตอนเช้าจะใช้รถบัสแบบ 4 ที่นั่งธรรมดา
ดูตารางเวลารถบัสสายโอซาก้า/เกียวโต – คามิโคจิ >

จากนากาโนะไปคามิโคจิ

รถบัสเส้นทางนี้ให้บริการเพียงรอบเดียวเฉพาะวันที่กำหนด ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง และรถบัสที่ใช้จะเป็นรถบัสแบบธรรมดา4 ที่นั่ง
ดูตารางเวลารถบัสสายนากาโนะ – คามิโคจิ >

จากทาคายามะไปคามิโคจิ

จากทาคายามะใช้เวลานั่งรถบัสประมาณ 1 ชั่วโมงไปฮิรายุออนเซ็น เพื่อต่อรถบัสไปคามิโคจิอีก 30 นาที
ดูตารางเวลารถบัสสายทาคายามะ – คามิโคจิ >

(อัพเดตปี 2023) วิธีการเดินทางจากมัตสึโมโต้ไปคามิโคจิโดยรถบัส
ปีนยอดเขาที่สูงที่สุดของภูเขาโนะริคุระ (3,026 ม.) ภายในแค่ 3 ชั่วโมง!

บทความที่คุณอาจสนใจ

ตะลุยเดินเทรกผ่านดงใบไม้เปลี่ยนสี @ยอดเขาโนริคุระ

บันทึกการเดินทางตามล่าใบไม้เปลี่ยนสีที่ “สึกาอิเคะ”